คมแฝก สงครามเวียดนาม และอันธพาลครองเมือง
- Komduen Hankla
- Jul 18, 2018
- 2 min read

เสนีย์ บุษประเกศ : เขียน
“คมแฝก” ละครโทรทัศน์ที่โด่งดัง ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของ เสนีย์ บุษประเกศ นักเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายที่มีชื่อเสียง และมีผลงานเขียนเรื่องสั้นและวรรณกรรมประมาณ 1,000 เรื่อง โดยเรื่องที่ได้หยิบยกมา เป็นอีกหนึ่งบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียง และมีความน่าสนใจในเชิงประเด็นทางสังคมที่ได้สอดแทรกเอาไว้ในตัวบท โดย “คมแฝก” ถูกประพันธ์เมื่อปี พ.ศ.2512 และได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายในปี พ.ศ.2513 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันในขณะที่สงครามเวียดนามกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในประเทศไทย การรบกันระหว่างเวียดนามและสหรัฐอเมริกาโดยอาศัยประเทศไทยเป็นฐานทัพ และในขณะเดียวกัน การเกิดขึ้นของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลเหนือกฎหมาย และนักเลงหัวไม้ทั้งหลายก็สร้างปรากฏการณ์ให้สังคมไทยจนเป็นที่โจษจันถึงอำนาจมืดเหล่านั้นมาจนถึงทุกวันนี้ โดยวรรณกรรมเรื่อง คมแฝก จะเล่าถึงแสนยานุภาพของเจ้าพ่อเมืองพล แสน ราชสีห์ และ กัลป์ เกรียงไกร อดีตตำรวจน้ำดีที่ถูกไล่ออกจากราชการและติดคุกติดตะรางเพราะไปท้าทายอำนาจเจ้าพ่อแสน ทำให้กัลป์ เกรียงไกรกลับมาเพื่อทวงความยุติธรรมให้กับชาวบ้านเมืองพล และทวงสิทธิอันชอบธรรมของตนกลับคืน
หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ในสมัยยุครุ่งเรืองของผู้มีอิทธิพลทีมีอำนาจล้นเหลือ ด้วยเพราะกฎหมายไม่อาจคงความศักดิ์สิทธิ์และการเรียกร้องหาความเป็นธรรมจากผู้พิทักษ์สันติราษฎรยังเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในหัวเมืองเล็กๆที่ห่างไกลความเจริญ เจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลทั้งหลายได้ตั้งตนเองขึ้นเป็นใหญ่และปกครองหัวเมืองเล็กๆเหล่านั้น มีการแผ่ขยายอำนาจ และสร้างบารมีของตนขึ้นมาอยู่เหนือกฎหมาย เหนือความชอบธรรมต่างๆ อิทธิพลมืดค่อยๆคืบคลานและกลืนกินสังคมไทย ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อของการกดขี่ข่มเหงและความไม่ยุติธรรมทั้งหลายโดยที่ไม่สามารถเรียกร้องสิ่งใด แม้แต่ผู้ที่มีหน้าที่รักษากฎหมายอย่างตำรวจ ก็ไม่อาจเอาผิดผู้มีอิทธิพลทั้งหลายได้ และผู้มีอิทธิพลก็ไม่เกรงกลัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกัน ปรากฏในวรรณกรรมตอนหนึ่ง มีประโยคที่กล่าวโดยตัวละคร แสน ราชสีห์ เจ้าพ่อเมืองพลว่า
“ข้าไม่กลัวตำรวจ แต่ข้ากลัวกฎหมาย ถ้าไม่ทำอะไรให้กฎหมายตามหาข้าได้ก็เป็นดี”
แสน ราชสีห์
คำพูดเป็นการบ่งบอกว่าเขานั้นเกรงกลัวต่อกฎหมายที่เป็นอาญาสิทธิ์ของแผ่นดิน หากแต่ผู้ที่สามารถใช้มันได้ดีที่สุดอย่างตำรวจ กลับไม่สามารถนำกฎหมายมาพิทักษ์บ้านเมืองได้ ยิ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าตำรวจไม่ได้เป็นที่เกรงกลัวและน่าเชื่อถือของผู้มีอิทธิพลและชาวบ้าน ในเรื่องของการนำกฎหมายมาปราบปรามความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันสงครามเวียดนามยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองระส่ำระสายมากยิ่งขึ้น การเข้ามาของทหารอเมริกัน หรือทหาร G.I. ที่นำเอาความเจริญเข้ามาสู่ดินแดนอีสาน การติดต่อคบค้าระหว่างทหารอเมริกันกับเจ้าพ่อที่ปกครองตามหัวเมืองต่างๆเพื่อผลประโยชน์และธุรกิจบางอย่าง เรื่องราวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านผลงานวรรณกรรมเรื่อง “คมแฝก” ซึ่งมีฉากหลังคือเมืองพล จังหวัดขอนแก่นซึ่งตั้งอยู่ในแผ่นดินอีสาน
เส้นทางสายอีสาน เป็นทางผ่านตลอดมาจากสระบุรี โคราช จนสุดเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในตัวบทวรรณกรรมมีการกล่าวถึงเส้นทางสายนี้ว่าเป็น “ดินแดนสนธยา” มีความหมายว่าแดนที่เสมือนมีบางสิ่งบางอย่างที่ลึกลับและมีปัญหาสลับซับซ้อนแอบแฝงให้น่าสงสัยอยู่มาก เรื่องราวขององค์กรที่ไม่โปร่งใสทางภาษาการเมืองก็เรียกว่า แดนสนธยา ทำให้เห็นว่าสภาพสังคมในสมัยนั้นไร้ซึ่งความโปร่งใสและอิทธิพลมืดที่ปกคลุมทั่วเส้นทางสายอีสานนั้นร้ายแรงเพียงใด หากกล่าวถึงประวัติของเจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย ก็ต้องบอกว่าเจ้าพ่อนั้นมีมานานแล้วนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่มีวิธีเรียกแตกต่างและบทบาทหน้าที่กันไป ในสมัยก่อนจะเรียกเจ้าพ่อว่า “เสือ” และเริ่มมีการใช้คำว่าเจ้าพ่อแรกๆ ในนวนิยายเรื่องเสือใบ ของ ป. อินทรปาลิต ประมาณปี 2490-2492 การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทวีความโหดร้ายของเจ้าพ่อมากยิ่งขึ้น จากเป็นเพียงแค่ผู้ปกครองดูแลหมู่บ้านธรรมดา เมื่อพวกเขามีอำนาจมากขึ้น จึงยกตนเป็นอภิสิทธิ์ชนที่อยู่เหนือกฎหมายและทำให้ชาวบ้านตกอยู่ใต้อาณัติเพื่อกระทำการเอารัดเอาเปรียบ ทั้งอิทธิพลภายในจากเจ้าพ่อที่คอยกดขี่ข่มเหง ประกอบกับอิทธิพลภายนอกจากการที่สหรัฐอเมริกาได้นำทหารเข้ามาตั้งฐานทัพในดินแดนอีสานแห่งนี้ สิ่งที่ติดตัวทหารเหล่านั้นมาคือยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมายและอาวุธสงครามร้ายแรง ทั้งเจ้าพ่อและกลุ่มทหารอเมริกาได้มีการคบค้าติดต่อกันเพื่อกระทำการบางอย่าง ไม่นานนักยาเสพติดและอาวุธเถื่อนทั้งหลายก็หลั่งไหลและแพร่กระจายไปทั่วแผ่นดินไทยเหมือนโรคร้าย ยาบ้ากลายเป็นสิ่งหาง่าย อาวุธสงครามทั้งหลายถูกซื้อมาเพื่อซ่องสุมกำลังพลโดยผู้มีอิทธิพลตามหัวเมืองต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นยุคของบ้านป่าเมืองเถื่อนอย่างแท้จริง
มีคลังแสง มีกำลังพล มีอำนาจ เป็นเหตุให้เกิดการก่อตัวของผู้มีอิทธิพลทั้งหลายขึ้นเรื่อยๆตามหัวเมืองเล็กๆห่างไกลความเจริญที่กฎหมายไม่สามารถทำงานได้ทั่วถึง คนเหล่านี้ตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่เพื่อมีอำนาจเหนือคนกลุ่มน้อยที่ไม่มีทางสู้ เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลจึงรวบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเพื่อสร้างบารมีและอำนาจให้เป็นที่เกรงขาม เห็นได้จากการดำเนินชีวิตของชาวบ้านที่ล้วนมีเจ้าพ่อเข้ามาเกี่ยวข้องเกือบทุกทางแม้อยากจะต่อต้านหรือทวงสิทธิความชอบธรรมของตนคืนมามากเพียงไหน ชาวบ้านก็ทำได้เพียงแค่ปิดปากเงียบและยอมรับชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงที่จะตามมา ในตัวบทก็มีการกล่าวถึงอำนาจของแสน ราชสีห์ผ่านการใช้ชีวิตของชาวบ้านในเมืองพลที่ถูกปกครองโดยเจ้าพ่อแสน ราชสีห์
“ร้านค้าในเมืองพลทุกร้านมีคำต่อท้ายว่าราชสีห์กันทั้งเมือง ภาษีเถื่อนไงล่ะคุณ ร้อยหนึ่งชักสี่สิบหรือห้าสิบ ถ้าขัดขืน ไม่ไฟไหม้ก็ถูกปล้น ญาติพี่น้องมีอันเป็นไป แล้วคุณยังจะคิดอีกหรือว่า เมืองพลกฎหมายจะช่วยคุณได้”
กัลป์ เกรียงไกร
เห็นได้ว่าในเมืองพลใครจะมีอำนาจเหนือเจ้าพ่อไม่ได้ คนทุกผู้ต้องก้มหัวและยอมจำนนต่ออำนาจมืดอย่างไม่มีทางเลือก บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป การเก็บภาษีเถื่อน การถูกกดขี่ข่มเหงและลิดรอนสิทธิของผู้คนใต้เงามืดของแสน ราชสีห์ สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนจากวรรณกรรมที่ทำให้เราย้อนถามตนเองว่าชาวบ้านจะต้องเป็นผู้ถูกกระทำไปอีกนานแค่ไหนและเมื่อไรเจ้าพ่อพวกนี้จะหมดไป ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์หายไปไหนเสียล่ะ? กฎหมายบ้านเมืองที่เชื่อว่าจะอยู่เหนืออำนาจชั่วร้ายตอนนี้กลับจมอยู่ใต้เท้าของผู้มีอิทธิพลแล้วหรือ?
“ตำรวจเหมือนไม่ใช่ตำรวจ ทุกคนตาบอดกันหมด แถมหูก็หนวกด้วยซี่”
ตะเภา
คำพูดของตะเภาหนึ่งในตัวละครที่สำคัญในเรื่องทำให้เรามองเห็นภาพของตำรวจในทัศนคติของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในสภาพสังคมเช่นนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าพวกเขาไม่สามารถพึ่งพาหรือทวงถามความชอบธรรมจากตำรวจได้เลย และยิ่งการที่สถานีตำรวจเมืองพลเป็นเมืองเล็กๆห่างไกลจากผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ยิ่งส่งเสริมให้การเข้ามาตรวจตรากวดขันอย่างทั่วถึงเป็นไปอย่างลำบาก การดำเนินการสั่งการต่างๆล่าช้าและเป็นเหตุให้ประชาชนสิ้นศรัทธากับตำรวจ แต่หากลองมองในมุมกลับกัน ใช่ว่าตำรวจจะเป็นผู้วิเศษมีอำนาจยิ่งใหญ่มาจากไหน พวกเขาเองก็เป็นเพียงประชาชนธรรมดาที่ทำหน้าที่รักษากฎหมาย เมื่อเจ้าพ่อทั้งหลายตั้งตนเป็นใหญ่เหนือความผิดชอบชั่วดีทั้งปวง การที่เขาจะต่อกรนั้นย่อมส่งผลลบกับตัวเขาและครอบครัวเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป
“ฉันติดคุกติดตะราง ออกจากหน้าที่ราชการตำรวจ ประวัติชีวิตยับเยิน เสียครอบครัวก็เพราะแสน ราชสีห์ขอยืมมือกฎหมาย เมืองพลยามนี้คุณจะเอามือกฎหมายที่ไหน ตำรวจกลัวปืน กลัวถูกเก็บ อำเภอทั้งอำเภอเหมือนคนนอนหลับ โรงพักทั้งโรงพักห้องขังไม่เคยมีอะไรเข้าไปสักตัวหนึ่ง ตำรวจห่วงลูกเมียยิ่งกว่าหน้าที่ ถ้าแข็ง ลูกเมียก็ลำบากญาติพี่น้องเดือดร้อน”
กัลป์ เกรียงไกร
สะท้อนให้เห็นว่าการจะต่อสู้กับอิทธิพลมืดของเจ้าพ่อทั้งหลายแลกมาด้วยความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง อีกทั้งเป็นการรนหาที่ตาย และผลลัพธ์ที่ได้คือความล้มเหลวของบุคคลที่อาจหาญลุกขึ้นมาต่อกร ความมืดมิดกลบแสงสว่างแห่งความหวังที่จะลืมตาอ้าปากของชาวบ้านครั้งแล้วครั้งเล่าจนความหวังก็หมดสิ้นไปในที่สุด แต่กระนั้นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่ด้วยความเป็นกฎหมายที่ทุกๆขั้นตอนกระบวนการย่อมต้องใช้เวลาเพื่อให้ความยุติธรรมของราษฎร มิได้เห็นว่าไครกระทำผิดก็สามารถดำเนินคดีได้เดี๋ยวนั้น แต่จำต้องมีหลักฐานที่เพียงพอ กระบวนการนี้ก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ตำรวจทำงานอย่างยากลำบากและทำให้คนบางกลุ่มใช้เป็นช่องโหว่ในการกระทำเรื่องมิชอบ
“จำไว้อย่างหนึ่งเถอะ…บางครั้งกฎหมายก็เดินตามหลังโจร”
องอาจ ชาตินักสู้
ในวรรณกรรมนอกจากจะมีฉากหลังในยุคเจ้าพ่อรุ่งเรือง ตัวบทก็ยังมีความร่วมสมัยกับเหตุการณ์การเกิดของสงครามเวียดนาม สงครามที่ได้เข้ามาพัฒนาและเปลี่ยนชีวิตของคนไทยในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง วิถีชีวิต โดยการเข้ามาตั้งฐานทัพของทหารอเมริกา ที่ทำให้เกิดการพัฒนาดินแดนอีสาน และปัญหายาเสพติดและอาวุธเถื่อน นับว่าเป็นสงครามที่นำทั้งความเจริญและความเสื่อมโทรมเข้ามาสู่สังคมไทย

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลง แต่ทว่าสงครามระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นยังคงดำเนินต่อไป ผลพวงจากสงครามโลกนั้นได้แบ่งโลกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ และฝ่ายเสรีประชาธิปไตยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ โดยที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์นั้นมีนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศต่างๆให้เป็นแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ด้วยการรุกราน ทางฝั่งเอเชียฝ่ายคอมมิวนิสต์ขยายอิทธิพลด้วยการส่งผู้ก่อการร้ายเข้าไปบ่อนทำลายบรรดาประเทศทวีปเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เกาหลี ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ลาว และไทย เพื่อเผยแพร่ลัทธิ และเข้ายึดครองประเทศเหล่านั้นตามอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ ทำให้สหรัฐฯ ตระหนักว่าถ้าหากกลุ่มคอมมิวนิสต์ซึ่งนำโดยเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายชนะจะทำให้ต้องสูญเสียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด จึงได้ให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนามใต้และเป็นผู้นำในการต่อต้านเวียดนามเหนือโดยการเข้าร่วมรบเป็นแนวหน้าในสงครามครั้งนี้ สงครามนี้จึงมีชื่อว่า สงครามเวียดนาม หรือ สงครามตัวแทน การเข้ามาตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในไทยนั้น เริ่มประมาณปี พ.ศ.2507 ในจังหวัดต่างๆ ของไทยที่ความสำคัญทางภูมิศาสตร์การรบ เช่น โคราช, อุดรธานี, อุบลราชธานี, อู่ตะเภา ระยอง ฯลฯ
ความเจริญก้าวหน้าและวัฒนธรรมแปลกใหม่ค่อยๆแทรกซึมเข้าสู่สังคมไทย โดยการเข้ามาของทหารอเมริกาเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนเกือบจะมีความเจริญเทียบเท่ากับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงเลยทีเดียว มีการสร้างถนนหนทางเพื่ออำนวยความสะดวกมากมาย เช่น ถนนมิตรภาพ สระบุรี-นครราชสีมา ,พิษณุโลก-ขอนแก่น ทางหลวงหมายเลข 304 อู่ตะเภา - นครราชสีมา เป็นต้น เชื่อกันว่าถนนที่สร้างนั้นแข็งแรงมากสามารถรองรับการใช้งานกับเครื่องบินของฐานทัพ การสร้างสนามบินในจังหวัดที่เป็นฐานที่มั่น เช่น สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดชลบุรี และสนามบินน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตขึ้น เกิดการส่งผ่านทางวัฒนธรรมอเมริกาสู่ประเทศไทย อีกทั้งร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ อาชีพใหม่ๆก็ได้เกิดขึ้น เช่น นักพากย์หนัง ซึ่งเป็นอาชีพขององอาจ ชาตินักสู้ตัวละครสำคัญในวรรณกรรม ถือเป็นยุครุ่งเรืองสูงสุดของวงการนักพากย์ภาพยนตร์ของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลพลอยได้ที่ทหารอเมริกันได้นำเข้ามาทั้งสิ้น
เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ในระหว่างนั้นการรั่วไหลของยาเสพติด และการลักลอบค้าอาวุธสงครามทั้งหลายสู่มือของผู้มีอิทธิพลทั้งหลายที่ได้รับการสนับสนุนและผลประโยชน์ร่วมกันจากทหารอเมริกัน เห็นได้จากในตัวบทวรรณกรรมที่มีการกล่าวถึงการร่วมมือของแสน ราชสีห์และทหารอเมริกัน ในการขอยืมกองกำลังทหารอเมริกันเพื่อเฝ้าคลังแสง ขนถ่ายอาวุธสงคราม และซื้อยาเสพติดอยู่บ่อยครั้ง มีการเปิดสถานที่อโคจรสำหรับทหารอเมริกันอย่างถูกกฎหมายโดยมีเจ้าพ่อคุ้มกันในแต่ละท้องถิ่น โดยในตัวบทวรรณกรรมมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า
“พ่อกับพี่ของอัญชัญเห็นแผ่นดินเมืองพลเป็นที่ซ่องสุมคนขายแผ่นดิน มีการติดต่อกับผู้คนที่ไม่ใช่คนไทย มีการลักลอบส่งเสบียงอาหาร มีการซ่องสุมพวกโจรและอาวุธเถื่อน”
กัลป์ เกรียงไกร
จากตัวบทนี้แม้จะไม่ได้มีการกล่าวตรงๆว่าบุคคลที่ไม่ใช่คนไทยนั้นเป็นคนชาติใด แต่เราสามารถสันนิษฐานได้ว่าการขนถ่ายอาวุธเถื่อนในสมัยนั้นผู้ที่จะกระทำได้โดยง่ายมีเพียงแต่ทหารอเมริกัน และด้วยความที่เจ้าพ่อและทหารอเมริกันต้องพึ่งพาอาศัยกันในหลายๆเรื่อง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลับลอบกระทำสิ่งผิดกฎหมาย นอกเหนือจากนั้น จากการปลูกฝิ่นของซีไอเออเมริกันทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกฝิ่นอันดับต้นๆของเอเชีย และเกิดอาชีพเมียเช่าและโสเภณี บ้านเมืองนั้นพัฒนาไปพร้อมกับความเสื่อมถอยของของศีลธรรมในจิตใจคน
บาดแผลจากสงครามเวียดนาม และคนอันธพาลครองบ้านเมือง จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ที่บ้านเมืองระส่ำระสาย ความไม่สงบภายในประเทศ การรบราฆ่าฟันกันเอง พร้อมกับสงครามเวียดนามได้เข้ามาเติมเชื้อไฟทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น ความศิวิไลซ์ที่เข้ามาในรูปแบบของการพัฒนาบ้านเมือง สิ่งที่ต้องแลกมานั้นนับว่าไม่คุ้มค่าเสียเลย อัตรายาเสพติด อาชญากร และการค้ามนุษย์ที่เพิ่มจำนวนขึ้น สงครามตัวแทนครั้งนี้ได้ทิ้งมรดกและเนื้อร้ายให้สังคมไทยมากมาย เห็นได้ถึงความเจริญที่นำมาซึ่งความเสื่อมถอยของบ้านเมือง ปัญหาต่างๆที่พวกเขาได้ทิ้งไว้ แม้จะจบสงครามแต่สิ่งเหล่านี้ได้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทยและสร้างแผลเป็นเสมือนของไว้ดูต่างหน้าเตือนใจคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง
Koratnana. (2556).โคราชในอดีต รูปเก่าๆ ยุคทหารสหรัฐอเมริกา (จีไอ:G.I.) ตั้งฐานทัพในไทยเพื่อทำสงครามเวียดนาม. สืบค้นจาก : http://www.koratnana.com/index.php?topic=3066.0 [22 พฤษภาคม 2561]
พรนภา อินวาทย์. (2557).สาเหตุของสงครามเวียดนาม.สืบค้นจาก:https://sites.google.com/site/pronnapaaey/neux-bth-reiyn/bthkhwammimichux [22 พฤษภาคม 2561]
อาทิตย์ เคนมี และ วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์.(2559).หักเหลี่ยมเจ้าพ่อ: ข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธ.สืบค้นจาก: https://waymagazine.org/thai_godfather/[18 พฤษภาคม 2561]
Comments